หลักการและเหตุผล
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง ถูกล้อมรอบด้วยแม่น้ำสำคัญ 3 สายคือ แม่น้ำลพบุรีด้านทิศเหนือ แม่น้ำป่าสักด้านทิศตะวันออก และแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานของการตั้งถิ่นฐาน เป็นชุมทางคมนาคมที่เอื้อต่อการค้าทั้งภายในและภายนอก ทำให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความสำคัญของภูมิภาคเอเชียและของโลก ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 20-23 และเป็นราชธานีเก่าแก่ของไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองยาวนานถึง 417 ปี จึงมีแหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาปรากฏอยู่ จนได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสำคัญของประเทศ และจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม จึงเหมาะแก่การเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าว ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยานับเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ แต่จากการพัฒนาที่ผ่านมาด้วยความได้เปรียบด้านที่ตั้ง และการคมนาคมที่สะดวก ส่งผลให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการลงทุนด้านอุตสาหกรรม มีโรงงาน และแรงงาน กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ ซึ่งการเติบโตที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและขยายตัวทางกายภาพอย่างมาก โดยมีการขยายเมืองเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรมต่างๆ ตลอดจนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว แต่จากเหตุการณ์อุทกภัย ครั้งใหญ่ปี พ.ศ.2554 สร้างความเสียหายต่อจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อให้การพัฒนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และศักยภาพของจังหวัด จึงควรมีแนวทางการพัฒนาอย่างบูรณาการร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เป็นผังแม่บทการพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของจังหวัด ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและระบบเมือง การคมนาคมและขนส่ง สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ พร้อมกำหนดแนวทางและมาตรการทางผังเมืองในการส่งเสริมและควบคุมการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ รวมถึงเป็นการเสริมสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาในอนาคตอย่างยั่งยืน